VIRGO in Astronomy and Astrology

VIRGO (เวอร์โก) ตามหลักของดาราศาสตร์และโหราศาสตร์

VIRGO, a pen name

ตามที่ได้เล่าให้ฟังไปแล้วในหัวข้อ “VIRGO นามปากกานี้ ท่านได้แต่ใดมา..??” ว่าหนึ่งในสาเหตุที่ใช้นามปากกาว่า “VIRGO” มาจาก “ราศีเกิด” ของตนเอง

Oct_10

มีใครเคยมีคำถามกับตัวเองบ้าง เวลาที่มีใครสักคนถามคุณว่า คุณเกิด “ราศีอะไร” ??

บางตำรา เห็นในวงเล็บที่ระบุช่วงของวันที่กับเดือนไว้ เราก็อยู่ในกลุ่มราศีหนึ่ง อีกตำรา ก็จัดเราไว้อีกราศีหนึ่ง !? อดนึกสับสนไม่ได้ว่า แต่ละตำราต่างกันอย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นการจัดกลุ่มตามตำราไหนกันแน่ .. ??

จริงๆ แล้ว คำตอบสำหรับข้อสงสัยนี้ คงไม่มีคำตอบที่ว่า “ผิด” หรือ “ถูก” แต่ขึ้นอยู่กับ “Astrology System หรือ ระบบโหราศาสตร์” ที่เรายึดถือมากกว่า

ก่อนที่จะลงรายละเอียดเรื่องระบบของการแบ่งราศีตามหลักโหราศาสตร์ ขอเล่าถึงหลักดาราศาสตร์สักเล็กน้อย เพื่อให้เห็นภาพรวมของ “กลุ่มดาวจักรราศี” ทั้งหมดในมุมของดาราศาสตร์เสียก่อน

ตามทฤษฎีของ ดาราศาสตร์ (Astronomy) สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล หรือ International Astronomical Union (IAU) ได้แบ่งพื้นที่ในท้องฟ้าออกเป็น กลุ่มดาวทั้งหมด 88 กลุ่ม ในกลุ่มดาวเหล่านี้ มี 12 กลุ่มที่เป็น “กลุ่มดาวจักรราศี หรือ Zodiac Constellations” ซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่ “ปรากฏ” อยู่ตามแนว “เส้นสุริยวิถี หรือ Ecliptic” หรืออีกนัยหนึ่ง คือ กลุ่มดาวที่ปรากฏเด่นชัดอยู่บน “เส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ หรือ The Sun’s Path” ที่เกิดจากการที่โลก (Earth) โคจรรอบดวงอาทิตย์ (Sun) ตลอดทั้งปี

(เครดิตภาพ: Star chart from Celestron Skyportal; Zodiac Constellation Latin names added by Virgo, the StoryTeller)

Ophiuchus

(เครดิตภาพ: Star chart from Stellarium)

จริงๆ แล้ว “กลุ่มดาวคนแบกงู หรือ Ophiuchus (the Serpent Bearer)” เป็น 1 ใน 13 กลุ่มดาวที่ปรากฏอยู่บนเส้นสุริยวิถี (Ecliptic) ที่ดวงอาทิตย์โคจรผ่าน ในบางครั้งจึงถูกกล่าวถึงว่าเป็น 1 ใน กลุ่มดาวจักรราศี ด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มดาวนี้ปรากฏให้เห็นอยู่ระหว่าง “กลุ่มดาวแมงป่อง (SCORPIUS)” และ “กลุ่มดาวคนยิงธนู (SAGITTARIUS)”

Ophiuchus

(เครดิตภาพ: Star chart from IAU – International Astronomical Union and Sky & Telescope)

แต่เนื่องจากความขัดแย้งของหลักการทางด้านดาราศาสตร์กับโหราศาสตร์ในหลายประเด็น (ยกตัวอย่างเช่น ระบบโหราศาสตร์สากลของตะวันตก มีการแบ่งราศีตามฤดูกาล ไม่ได้ใส่ใจถึงตำแหน่งจริงของดวงดาวบนท้องฟ้า) ทำให้ยังไม่มีการบัญญัติกลุ่มดาวนี้ไว้ในกลุ่มดาวจักรราศีอย่างเป็นทางการ

เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ถ้าในอดีต มีการยืนยันอย่างเป็นทางการให้เพิ่มราศีนี้ไว้ในกลุ่มดาวจักรราศีด้วย แปลว่า ใน 1 ปีของเรา จะมีทั้งหมด 13 เดือน !!

โดยเดือนที่เพิ่มขึ้นมานั้นจะอยู่ระหว่างเดือน “พฤศจิกายน กับ ธันวาคม” (พิจิก / แมงป่อง กับ ธนู – คนยิงธนู) และอาจนำคำว่า “ภุชงค์ หรือ งู” มาเป็นรากศัพท์ของชื่อเดือน และอาจมีสัญลักษณ์เป็น “งู” หรือ “พญานาค” ก็เป็นได้

Ophiuchus

(เครดิตภาพ: Ophiuchus Constellation จาก Star Walk 2; Highlights added by Virgo, the StoryTeller)

คนในยุคโบราณ ต่างมีจินตนาการการมองเห็น กลุ่มดาวจักรราศี ทั้ง 12 กลุ่มนี้ เป็นรูปร่างของสัตว์ต่างๆ กันไป (คำว่า “zodiac” ในภาษาละตินหรือกรีกโบราณ มาจากคำว่า “zodiacus” หรือ “zodiakos” มีความหมายถึง “circles of little animals” หรือ “บรรดาสัตว์น้อยใหญ่ต่างๆ ที่ล้อมรอบกันอยู่เป็นวงกลม” นั่นเอง)

นอกจากนี้ ยังมีการนำ “ชื่อของกลุ่มดาวจักรราศี” มากำหนดเป็น “ชื่อของเดือน” ในตลอด 1 ปีที่ดวงอาทิตย์โคจรผ่านอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับหลักการทางดาราศาสตร์ที่ว่า กลุ่มดาวจักรราศีทั้ง 12 กลุ่มนี้ อยู่ห่างกันราว 30 องศา รวมกันแล้วเท่ากับ 360 องศาของทรงกลมท้องฟ้าพอดิบพอดี

ในทางดาราศาสตร์ กลุ่มดาวกันย์ (VIRGO) เป็น ราศีที่ 6 ในหมู่ของ กลุ่มดาวจักรราศี เป็นกลุ่มดาวที่มีขนาดใหญ่เป็น “อันดับสอง” บนท้องฟ้า (รองจาก “กลุ่มดาวงูไฮดรา หรือ HYDRA”) แต่เป็นกลุ่มดาวที่ “ใหญ่ที่สุด” ในบรรดากลุ่มดาวจักรราศีทั้งหมด โดยตั้งอยู่ระหว่างกลุ่มดาวสิงห์ (LEO) ทางทิศตะวันตก และกลุ่มดาวตุลย์ (LIBRA) ในทิศตะวันออก

Virgo_constellation

(เครดิตภาพ: Virgo Constellation จาก Star Walk 2; Highlights added by Virgo, the StoryTeller)

กลุ่มดาวนี้ถือเป็นตัวแทนของ “หญิงสาว” ที่เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ยุติธรรม รวมถึงการเก็บเกี่ยวและความอุดมสมบูรณ์ โดยจุดเด่นของกลุ่มดาวนี้ อยู่ที่ “ดาวสไปกา หรือ สปีกา (Spica)” ซึ่งเป็นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่ม และเป็นเสมือนตัวแทนของ “รวงข้าวสาลี” ที่หญิงสาวถืออยู่

Virgo constellation

(เครดิตภาพ: Virgo Constellation จาก space.com)

ในทางโหราศาสตร์ “กลุ่มดาวกันย์ (VIRGO)” ถือเป็นสัญลักษณ์ของ “ธาตุดิน” โดยมี “ดาวพุธ (Mercury)” เป็นดาวประจำราศี ซึ่ง “ดาวพุธ” เป็น “ดาวแห่งการสื่อสาร” ทำให้คนที่เกิดในราศีนี้ ให้ความสำคัญและมีความพิถีพิถันในเรื่องของการสื่อสาร มีการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา มีความช่างสังเกตุและมีความละเอียดถี่ถ้วน ชอบที่จะวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจ เป็นคนที่มีเหตุมีผล ละเอียดรอบคอบ มีระเบียบ และมีระบบในการดำรงชีวิต ทำให้ดูน่าเชื่อถือและสามารถจัดการสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเมตตา ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้เหมาะสมกับบทบาทหรืออาชีพที่ต้องคอยสนับสนุนผู้อื่น นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นคนที่ชอบแสวงหาความสมบูรณ์แบบอีกด้วย

ในตำนานหนึ่งของกรีก มีการเชื่อมโยงกลุ่มดาวราศีกันย์ (Virgo) นี้กับเทพีไดคี (Dike or Astraea) ซึ่งเป็นธิดาแห่งเทพซยูส (Zeus) และเทพีธีมิส (Themis) เทพีไดค์ (Dike) เป็นเทพธิดาแห่งความยุติธรรม (Virgin Goddess of Justice) คนที่เกิดราศีนี้ จึงรักในความยุติธรรมและศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งคันชั่งแห่งความยุติธรรมในมือของนาง ได้ปรากฏเป็น “กลุ่มดาวคันชั่ง (Libra หรือ ราศีตุลย์)” ที่อยู่เคียงข้างกันบนท้องฟ้า

Dike Astraea

อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า กลุ่มดาวกันย์ หรือ VIRGO เป็นเรื่องราวของเทพธิดาแอสเตรีย ลูกสาวของจูปิเตอร์และเทมิส เป็นผู้ที่ไร้เดียงสา เธอปรารถนาให้โลกสงบ ไม่เบียดเบียนกัน แต่ทางกลับกัน มนุษย์กลับพากันรบราฆ่าฟัน และมีนิสัยที่เธอรับไม่ได้ เธอจึงหนีเข้าไปอยู่ในป่า และหนีกลับสวรรค์ในที่สุด จึงได้เกิดเป็นดาวกลุ่มนี้ขึ้นมา และเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติ เทพธิดาแอสเตรีย ได้ทำการบดรวงข้าว แล้วหว่านเมล็ดไปทั่วฟ้า จนทำให้เป็นที่มาของทางช้างเผือกที่สันติสุข นั่นเอง

อย่างที่เราอาจเคยได้ยินกันมาบ้าง การนับราศีเกิดในทางโหราศาสตร์นั้นแบ่งออกเป็น 2 ระบบหลักๆ ได้แก่ ระบบนิรายนะ (Sidereal Astrology) และ ระบบสายนะ (Tropical Astrology)

ระบบนิรายนะ หรือ Sidereal” เป็นระบบจักรราศีคงที่ อ้างอิงจาก “ตำแหน่งจริงของกลุ่มดาวจักรราศี” บนท้องฟ้า (นั่นคือ “ราศีกันย์” เริ่มต้นเมื่อดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ “กลุ่มดาวราศีกันย์”) นิยมใช้ในโหราศาสตร์ฝั่งตะวันออก (เช่น โหราศาสตร์ในประเทศอินเดียและไทย)

ระบบสายนะ หรือ Tropical” เป็นระบบจักรราศีเคลื่อนที่ ที่เปลี่ยนไปตาม “ฤดูกาล” ต่างๆ ตามที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์และรอบตัวเอง ไม่อ้างอิงตำแหน่งจริงของดวงดาวบนท้องฟ้า ถือเป็นโหราศาสตร์สากลที่นิยมใช้ในฝั่งตะวันตก

ดังนั้น สำหรับคนที่เกิดวันที่ “10 ตุลาคม” หากนับตาม “โหราศาสตร์ระบบนิรายนะ (Sidereal Astrology)” จะถือเป็น “ชาวราศีกันย์ หรือ VIRGO” แต่ถ้านับตาม “โหราศาสตร์ระบบสายนะ (Tropical Astrology)” จะถือเป็น “ชาวราศีตุลย์ หรือ LIBRA”

เมื่อพิจารณาจากบ้านเกิดของตัวผู้เขียนที่อยู่ทาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ “โหราศาสตร์ไทย” มีรากฐานมาจากคัมภีร์พระเวทในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งสืบทอดมาจากอินเดียแล้วนั้น ผู้เขียนจึงยึดถือการแบ่งจักรราศีตามระบบ “นิรายนะ” มาโดยตลอด (แต่บังเอิญที่่ว่า จากตำนานต่างๆ ในอดีต กลุ่มดาวราศีกันย์และตุลย์ มีความเชื่อมโยงและเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอยู่แล้ว ทำให้บุคลิกลักษณะของผู้ที่เกิดในสองราศีนี้ มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรมและการเจรจา)

ในบทความต่อไป จะมาเล่าใหัฟังเกี่ยวกับรายละเอียดของ การแบ่งจักรราศีตามระบบโหราศาสตร์ทั้ง 2 ระบบ คือ ระบบนิรายนะ (Sidereal Astrology) และ ระบบสายนะ (Tropical Astrology) แล้วมาดูกันว่า ปัจจุบันคุณอ้างอิงราศีเกิดตามระบบโหราศาสตร์แบบใด และกลุ่มดาวนั้นๆ มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพและความคิดความอ่านของคุณตามดวงชะตามากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้อาจจะดูเข้าใจยากซับซ้อนไปสักนิด แต่เป็นศาสตร์ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

Share this with your friends via:
Scroll to Top