December 26: Boxing Day and St. Stephen’s Day
วันเปิดกล่องของขวัญ และ วันฉลองนักบุญสตีเฟ่น
นอกจาก Thanksgiving Day และ Christmas (หัวข้อ: The History of Christmas and the Iconic Santa Claus) ที่สื่อถึงการให้และการแบ่งปันแล้ว ในเดือนธันวาคมยังมีอีกเทศกาลหนึ่งที่หลายประเทศบนโลกให้ความสำคัญและสืบสานประเพณีด้วยการมอบสิ่งดีๆ ให้แก่ผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในชีวิตของเรา เทศกาลนั้นคือ “ประเพณีการเปิดกล่องของขวัญ หรือ Boxing Day” นั่นเอง
Introduction: บทเกริ่นนำ
“Boxing Day” ตรงกับวันที่ 26 ธันวาคม ของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญและวันหยุดราชการของหลายประเทศในเครือจักรภพ เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ จัดขึ้นเพื่อแสดงถึงความขอบคุณและความปรารถนาดีด้วยการมอบของขวัญหรือของกำนัลแด่บุคคลอื่น
“ประเพณีการเปิดกล่องของขวัญ” นี้ มีต้นกำเนิดในปี ค.ศ. 1871 ในช่วงที่ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria) แห่งสหราชอาณาจักรทรงครองราชย์
Origins: ที่มาของชื่อ Boxing Day
การแจกของขวัญหรือของบริจาค
ในอดีต วัน “Boxing Day” เป็นวันที่ขุนนางและชนชั้นสูงในยุโรป มอบ “กล่องของขวัญ” หรือ “กล่องบริจาค (Charity Boxes)” ให้กับคนงานหรือผู้ยากไร้ เพื่อตอบแทนความทุ่มเท วิริยะอุตสาหะที่พวกเขาทำงานอย่างหนักมาตลอดทั้งปี เป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างชนชั้นต่างๆ
ธรรมเนียมในโบสถ์
ในสมัยก่อน โบสถ์จะมี “กล่องบริจาค” ที่เรียกว่า “Alms Box” เพื่อเรี่ยไรเงินบริจาคจากสมาชิกในชุมชน และจะนำเงินเหล่านี้มาบริจาคให้คนยากจนในช่วงเทศกาล “Advent” หรือ “เตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า”
[Credits: HeritageDoncaster.org.uk]
“Advent” มาจากศัพท์ละติน คือ “Adventus” ที่แปลว่า “การมาถึง” เทศกาลศักดิ์สิทธิ์ Advent จึงเป็นเวลาของการตระเตรียมรับการมาถึงของพระเยซูเจ้า เริ่มเฉลิมฉลองกันประมาณ 4 สัปดาห์สุดท้ายก่อนพระคริสตสมภพ (ซึ่งก็คือ ประมาณหนึ่งเดือนก่อนวันคริสต์มาส)
[Credits: The King Shall Come When Morning Dawns / Advent Christian Hymn; Sunday 7pm Choir]
การแจกจ่ายของที่เหลือจากวัน Christmas
ในครอบครัวของชนชั้นสูง มักมีการมอบของที่เหลือจากคริสตมาส เช่น อาหารหรือของขวัญชิ้นเล็กๆ ให้แก่คนรับใช้หรือคนด้อยโอกาส
Meaning: ความสำคัญของ Boxing Day
วันแห่งการแบ่งปันและเมตตา
เป็นโอกาสสำหรับผู้คนที่จะช่วยเหลือและแบ่งปันให้แก่ผู้อื่น เช่น บริจาคสิ่งของหรือเงินให้แก่องค์กรการกุศล
วันหยุดพักผ่อนและใช้เวลากับครอบครัว
หลายคนใช้เวลานี้พักผ่อนยาวหลังจากเฉลิมฉลองคริสต์มาส โดยมักจะจัดกิจกรรมปาร์ตี้เล็กๆ กับครอบครัวหรือออกไปเที่ยวสังสรรค์กัน
จับจ่ายใช้สอยในเทศกาลลดราคา
ปัจจุบันมีการจัดแคมเปญลดราคาสินค้ามากมายในวัน Boxing Day (เช่นเดียวกันกับเทศกาลช็อปปิ้งอย่าง Black Friday ที่มีขึ้นหลังวัน Thanksgiving Day ในสหรัฐอเมริกา)
[Credits: Freepik]
กิจกรรมกีฬา
ในสหราชอาณาจักร มีการจัดแข่งขันกีฬาในวัน Boxing Day ได้แก่ ฟุตบอล (เช่น พรีเมียร์ลีก ของอังกฤษ) รักบี้ ขี่ม้า ฯลฯ ซึ่งถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานาน
[Credits: Facebook – Premier League]
หากวัน Christmas และ Boxing Day ตรงกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดชดเชยจะจัดให้มีขึ้นในวันทำการถัดไปแทน
เช่น หากวันคริสตมาสตรงกับวันเสาร์ และ Boxing Day ตรงกับวันอาทิตย์ แนวทางปฏิบัติในยุโรปและอีกหลายประเทศ คือ จะมีการ “ชดเชย” วันหยุดให้ในวันจันทร์ (สำหรับ Christmas Day) และวันอังคาร (สำหรับ Boxing Day) เป็นวันหยุดเทศกาลยาวติดต่อกัน 4 วัน เป็นต้น เพื่อเพื่อไม่ให้วันหยุดสำคัญเหล่านี้สูญหายไป และให้ทุกคนได้รับสิทธิ์วันหยุดกันอย่างเต็มที่ แม้ว่าวันหยุดนั้นจะตรงกับวันสุดสัปดาห์ก็ตาม
ในบางประเทศของยุโรป เช่น เยอรมนีหรือฝรั่งเศส อาจไม่มีการชดเชย Boxing Day ให้ เนื่องจากไม่ได้มีการเฉลิมฉลอง Boxing Day อย่างเป็นทางการอยู่แล้ว หรืออาจใช้กฎที่แตกต่างออกไป
St. Stephen’s Day: วันฉลองนักบุญสตีเฟ่น
“วันฉลองนักบุญสตีเฟ่น” ตรงกับวันที่ 26 ธันวาคม ของทุกปี เช่นเดียวกันกับ Boxing Day และถือเป็นวันสำคัญทางศาสนาคริสต์ในหลายประเทศ
[Credits: Christ Church Cathedral, Nashville, Tennessee, U.S.A.]
ความสำคัญของวัน St. Stephen’s Day
เพื่อระลึกถึงนักบุญสตีเฟ่น
“นักบุญสตีเฟ่น” ถือเป็นผู้พลีชีพเพื่อศาสนาคริสต์คนแรก (มรณสักขี หรือ First Martyr) เขาเป็นชายผู้เปี่ยมด้วยศรัทธาและพระวิญญาณบริสุทธิ์ เป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ ความเชื่อ และการให้อภัย แม้ในขณะที่ตนเองต้องเผชิญหน้ากับความตาย
ที่เรียกว่า ผู้พลีชีพเพื่อศาสนา เนื่องจากเขาถูกประหารชีวิตจากการยืนหยัดในความเชื่อและการประกาศคำสอนของศาสนาคริสต์
[Credits: St. Oswald’s Church, UK]
ในยุคเริ่มแรก เขาเป็นหนึ่งในเจ็ดของ “ผู้ช่วยศิษยาภิบาล หรือ สังฆานุกร (Deacons)” กลุ่มแรกของคริสต์ศาสนา ซึ่งได้รับเลือกจากอัครสาวกของพระเยซูเพื่อช่วยเหลือดูแลชุมชนคริสต์ในกรุงเยรูซาเล็ม โดยเฉพาะการช่วยเหลือคนยากไร้และหญิงม่าย เพื่อสร้างโครงสร้างที่ช่วยให้คริสตจักรเจริญรุ่งเรือง
ความทุ่มเทของเขาต่อพระเจ้าและคริสตจักรยุคแรก ทำให้เขาเป็นบุคคลสำคัญในการเทศนาและเผยแผ่คำสอนของพระเยซูคริสต์ โดยเน้นย้ำถึงความเชื่อในพระเจ้าและการให้อภัย ท่านได้รับการบูชาเป็น “นักบุญ” ผู้พลีชีพคนแรก และมีการเฉลิมฉลองให้ท่านในวันที่ “26 ธันวาคม”
เพื่อเชื่อมโยงกับการแบ่งปันและช่วยเหลือ
“นักบุญสตีเฟ่น” มีชื่อเสียงในด้านการข่วยเหลือผู้ยากไร้ ซึ่งเป็นที่มาของธรรมเนียมการบริจาคและการแบ่งปันในวันนี้
Martyr: การพลีชีพของนักบุญสตีเฟ่น
สตีเฟ่นมีข้อขัดแย้งกับผู้นำศาสนายิวในยุคนั้น เนื่องจากเขาวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติทางศาสนาที่ขาดจิตวิญญาณที่แท้จริง และยืนยันว่า “พระเยซู” คือ “พระเมสสิยาห์ (พระผู้ช่วยให้รอด)” เขาถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมว่าหมิ่นประมาทโมเสสและพระเจ้า ทำให้ถูกนำตัวขึ้นศาลสภาซันเฮดริน (Sanhedrin) ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของชาวยิว
สตีเฟ่นได้อธิบายเหตุผลโดยใช้ประวัติศาสตร์และความเข้าใจในการอธิบายพระคัมภีร์ ความรู้ของเขากว้างขวางและมีความสามารถในการถ่ายทอดได้อย่างชัดเจน แต่ข้อความของเขายิ่งทำให้สมาชิกสภาโกรธเคือง หลังจากการกล่าวสุนทรพจน์ต่อศาล ที่แสดงถึงความศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระเยซู สตีเฟ่นถุกตัดสินว่ามีความผิด ถูกนำตัวออกไปนอกเมืองและถูก “ขว้างด้วยก้อนหิน” จนเสียชีวิตโดยกลุ่มผู้ต่อต้าน ซึ่งเหตุการณ์นี้มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่ (กิจการของอัครทูต บทที่ 7)
[Credits: Britannica]
แม้ว่าสตีเฟ่นจะต้องเผชิญกับความตาย แต่เขาก็ยังไม่เลิกศรัทธาของเขา ขณะที่ถูกขว้างปาด้วยก้อนหิน สตีเฟ่นได้แหงนหน้าขึ้นมองดูสวรรค์และอธิษฐานขอให้พระเจ้า “ให้อภัย” ผู้ที่ทำร้ายเขา อย่าให้พวกเขาต้องรับบาปนี้ ซึ่งสะท้อนถึงความลึกซึ้งในตัวตนและความทุ่มเทของเขาที่มีต่อพระเยซู คำพูดสุดท้ายของเขาสะท้อนให้เห็นถึงคำสอนของพระคริสต์ ความรักและการให้อภัย แม้ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต
[Credits: Saint Stephen; Sculpture by Hans Leinberger @ The Metropolitan Museum of Art, NY, U.S.A.]
คำว่า “มรณสักขี (Martyr)” หมายถึง ผู้ที่ยอมสละชีวิตเพื่อศรัทธาในศาสนาหรือความเชื่อ สตีเฟ่นจึงเป็นต้นแบบของผู้ศรัทธาที่กล้าหาญ ชีวิตและการเสียสละของเขาเตือนใจผู้ศรัทธาถึงการเรียกร้องให้เผยแพร่ข้อความของพระเยซูอย่างกล้าหาญ ไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยอะไรก็ตาม
[Credits: Good King Wenceslas – Traditional Choir; smittysmee]
ถึงแม้ความสำคัญของ “Boxing Day” กับ “St. Stephen’s Day” จะมีที่มาทางประวัติศาสตร์แตกต่างกัน แต่การเฉลิมฉลองมักถูกนำมารวมกัน โดยผสมผสานพิธีทางศาสนากับธรรมเนียมของการให้และการช่วยเหลือเข้าด้วยกัน
Conclusion: บทสรุป
วัน “Boxing Day” นี้ จึงไม่เป็นแค่เพียง “วันหยุด” หลังคริสต์มาสที่ให้ผู้คนได้พักผ่อนและร่วมทำกิจกรรมดีๆ กับครอบครัวหรือเพื่อนๆ แต่ยังเป็นเครื่องเตือนใจถึง “ความเมตตา” ที่มนุษย์พึงมีต่อกันและกันเสมอ เป็นการสานต่อจิตวิญญาณแห่งการให้ การแบ่งปัน และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้มีสืบต่อไปและเป็นแรงบันดาลใจให้เราใช้ชีวิตด้วย “ความมีน้ำใจ” และ “ความเมตตากรุณา” ต่อผู้อื่นเสมอ
P.s. I intended to use RED / GOLD / PURPLE colour in this post because I learnt that, according to Liturgical Colours, these 3 colours are connected with Christian Liturgy. Especially, RED signifies God’s love, blood, fire, and celebrations of martyrs.