The History of Christmas and the Iconic Santa Claus
ประวัติวันคริสต์มาสและตำนานซานตาครอส
Greeting: คำทักทาย
[Photo Credits: ICONSIAM]
ช่วงปลายปีแบบนี้ เป็นช่วงเวลาที่ผู้เขียนชื่นชอบที่สุดในแต่ละปี การได้ดื่มด่ำกับไฟประดับตามต้นไม้และศูนย์การค้าบนสองฝั่งถนน หรือได้ฟังเสียงเพลงหรือดนตรีที่บรรเลงในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ชวนให้ผู้ชมหรือผู้ฟังรู้สึกได้ถึงความสนุกสนานร่าเริง ผ่อนคลาย และเฝ้ารอที่จะได้ใช้เวลาดีๆ พักผ่อนกับครอบครัวหรือเพื่อนสนิท ในบรรยากาศช่วงวันหยุดเทศกาลที่กำลังจะมาถึง
ข้อสังเกตุ: สำหรับ “หัวข้อย่อย” ที่ ตัวอักษรสีเขียว และมี เครื่องหมายสามเหลี่ยม อยู่ด้านหน้า สามารถคลิ้กเข้าไป เพื่อ “อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม” ได้
Introduction: บทเกริ่นนำ
ทุกๆ ปี เมื่อความหนาวเย็นเริ่มมาทักทายในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน หลายคนทั่วโลกเริ่มต้นการเฉลิมฉลองด้วยเทศกาล “วันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving Day)” ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการ “ขอบคุณ” สิ่งดีๆ ในชีวิต การรับประทานอาหารและใช้เวลาอยู่ร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนสนิท ผู้คนจะหยุดพักจากความวุ่นวายของชีวิต เพื่อแสดงความกตัญญูต่อพรที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพที่ดี ครอบครัวที่อบอุ่น หรือความรักที่อยู่รอบตัว แม้รูปแบบการเฉลิมฉลองจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่สาระสำคัญยังคงเหมือนเดิม นั่นคือการสร้างความสัมพันธ์ แบ่งปันความสุข และการแสดงความขอบคุณ
[Photo Credits: Thanksgiving; Boston University]
หาก “วันขอบคุณพระเจ้า” ในเดือนพฤศจิกายน สอนให้เรา “ซาบซึ้งใจ” กับสิ่งที่เรามีอยู่ …
… “วันคริสต์มาส” ซึ่งตามมาในเดือนธันวาคม ถือเป็นเทศกาลที่เตือนให้เรา “มอบความสุข” นั้นให้แก่ผู้อื่น ด้วยการให้ของขวัญ การแบ่งปันอาหาร และการร่วมฉลองกันอย่างอบอุ่น ในเทศกาลคริสต์มาสที่มาถึง
บทความนี้จะพาคุณย้อนกลับไปสำรวจเรื่องราวของ “วันคริสต์มาส” ว่ามีที่มาอย่างไร และเหตุใด “ซานตาคลอส” จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่เด็กและผู้คนนิยมมากที่สุดของเทศกาลอันศักดิ์สิทธิ์นี้ได้
The Origins of Christmas: ต้นกำเนิดวันคริสต์มาส
ถึงแม้วันประสูติที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์จะยังคงเป็นปริศนา มิได้มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดหรือถูกระบุไว้ชัดเจนในพระคัมภีร์ไบเบิล แต่ในช่วงศตวรรษที่ 4 คริสตจักรคาทอลิกได้กำหนดเอาวันที่ “25 ธันวาคม” เป็น “วันเฉลิมฉลองการประสูติของพระเยซูคริสต์” โดยมีที่มาดังต่อไปนี้
เชื่อมโยงกับเทศกาล Saturnalia ของจักรวรรดิโรมัน
ในอดีต เทศกาล Saturnalia ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-23 ธันวาคม เพื่อเฉลิมฉลองให้แก่เทพเจ้า Saturn (เทพแห่งการเกษตร) เป็นวันสิ้นสุดของฤดูใบไม้ร่วง ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว
[Photo Credits: Edinburgh University]
เชื่อมโยงกับเทศกาล Yule ในวันเหมายัน (Winter Solstice)
เทศกาล Yule เป็นเทศกาลในฤดูหนาวของกลุ่มคนนอกรีต (Pagan) จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวันเหมายัน มักจัดขึ้นเป็นเวลาประมาณ 12 วันและไปสิ้นสุดลงในวันขึ้นปีใหม่หรือวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ต้อนรับการกลับมาของแสงสว่างและเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่
[Photo Credits: TheBusyPagan]
วันเหมายัน หรือ ทักษิณายัน เกิดขึ้นประมาณวันที่ 20-23 ธันวาคม เป็นวันที่ “กลางคืนยาวนานที่สุด” ของปี เป็นวันแรกของฤดูหนาวสำหรับประเทศในซีกโลกเหนือ (ได้แก่ ทวีปอเมริกาเหนือ-กลาง ทวีปยุโรป ทวีปเอเชีย และส่วนใหญ่ของทวีปแอฟริกา เป็นต้น) โดยในปี 2024 นี้ วันเหมายัน ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม
เทศกาล Dies Natalis Solis Invicti (วันเกิดของดวงอาทิตย์ผู้ไม่มีแพ้)
ชาวโรมันยุคโบราณจัดงานรื่นเริงในวันที่ 25 ธันวาคม เรียกกันว่า “Dies Natalis Solis Invicti” เพื่อเฉลิมฉลองให้แก่เทพเจ้า Sol Invictus ถือเป็นวันเกิดของพระอาทิตย์ ผู้ไม่มีวันพ่ายแพ้ (The Unconquered Sun) ในช่วงเวลาดังกล่าว พระอาทิตย์อยู่ห่างจากโลกมากที่สุด และเริ่มเคลื่อนตัวเองไปสู่ขอบฟ้าทางทิศเหนือ เป็นสัญลักษณ์แห่งการกลับมาของแสงสว่าง เป็นชัยชนะเหนือความมืด
[Photo Credits: Oscar de Noronha]
ซึ่งมีความเชื่อหนึ่งที่ว่า หากวันนั้นถือเป็นวันเกิดของพระอาทิตย์ พระคริสตเจ้าก็ควรทรงลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ในวันนั้นด้วย เนื่องจากมองว่า พระเยซูเปรียบเสมือนแสงสว่างแห่งโลกใบนี้
การกำหนดโดยคริสตจักรในยุคหลัง
ในปี ค.ศ. 336 จักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช แห่งจักรวรรดิโรมัน (จักรพรรดิพระองค์แรกของจักรวรรดิโรมันที่นับถือศาสนาคริสต์) ได้มีการบันทึกอย่างเป็นทางการครั้งแรกว่า วันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันเฉลิมฉลองการประสูติของพระเยซู ต่อมาในปี ค.ศ. 380 ศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาประจำของจักรวรรดิโรมัน ทำให้วันคริสต์มาสเป็นวันที่ยอมรับในวงกว้าง
[Photo Credits: The Roman Empire]
ถึงแม้วันที่ 25 ธันวาคม จะไม่ใช่วันประสูติที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ แต่ถูกเลือกโดยมีเหตุผลทั้งทางวัฒนธรรมและศาสนา เพื่อให้เทศกาลคริสต์มาสสอดคล้องกับประเพณีและความเชื่อของคนในยุคนั้น โดยเน้นสัญลักษณ์ของ “แสงสว่าง” และ “การเริ่มต้นใหม่” ซึ่งเหมาะกับพระเยซูในฐานะศูนย์กลางของศาสนาคริสต์ ต่อมา วันคริสต์มาสจึงค่อยๆ แพร่หลายไปทั่วโลก และผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น จนกลายเป็นเทศกาลที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
Christmas Eve & Christmas Day
Christmas Eve (24 ธันวาคม):
คืนก่อนวันคริสต์มาส ถือเป็นคืนแห่งการรอคอยการประสูติของพระเยซู มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและการเข้าโบสถ์หรือวัดของคริสตศาสนิกชนทั่วโลก เพื่อร่วมพิธีมิสซาเที่ยงคืน (Mignight Mass) บรรยากาศเต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ เงียบสงบ อบอุ่น และโรแมนติก เตรียมตัวเข้าสู่วันคริสต์มาสอย่างเป็นทางการ
Christmas Day (25 ธันวาคม):
บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุก ร่าเริงสดใส ของการเฉลิมฉลอง มีการตกแต่งบ้านเรือนด้วยแสงไฟ ต้นคริสต์มาส ของประดับ และของขวัญที่แจกจ่ายให้แก่กัน
The word “CHRISTMAS”
คำว่า “คริสต์มาส” ในภาษาไทย มีที่มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า “Christmas” ซึ่งเป็นการผสมคำระหว่าง
- Christ หมายถึง พระเยซูคริสต์
- Mass (ตรงกับคำว่า Missa ในภาษาละติน) หมายถึง พิธีมิสซาหรือพิธีทางศาสนา ในศาสนาคริสต์
เมื่อรวมกันแล้ว คำว่า “Christmas” จึงมีความหมายว่า “พิธีมิสซาเพื่อเฉลิมฉลองการประสูติของพระเยซูคริสต์”
ในภาษาอังกฤษโบราณ (Old English) คำว่า คริสต์มาส นี้ จะเขียนว่า “Criste Maesse” ซึ่งแปลว่า “Christ’s Mass” ปรากฎขึ้นราวศตวรรษที่ 11 ซึ่งคริสต์ศาสนิกชนใช้เพื่อเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซูคริสต์
ภาษาอังกฤษโบราณ จะมีการอ่านออกเสียงแตกต่างจากภาษาอังกฤษสมัยใหม่อย่างมีนัยยะสำคัญ หากจะอ้างอิงจากหลักการอ่านออกเสียงของ IPA (International Phonetic Alphabet) “Criste” จะออกเสียงว่า kristə (คริส-เตอะ) ส่วน “Maesse” จะออกเสียงว่า mæsːe (แมส-เซ) โดยคำศัพท์ภาษาอังกฤษยุคโบราณมักจะออกเสียงเต็มคำอย่างชัดเจน ไม่มี Silent letters (พยัญชนะที่ไม่ออกเสียง เช่น พยัญชนะ B ในคำว่า Debt, Doubt, Dumb ที่ไม่มีการออกเสียง b) หรือ Blended vowels (เสียงสระประสม เช่น สระเอีย สระเอือ สระอัว) อย่างที่เราเห็นกันในคำศัพท์ของภาษาอังกฤษสมัยใหม่
Merry Christmas & Happy Christmas
คำอวยพรที่เรานิยมใช้กันในเทศกาลวันคริสตมาสนี้ มีอยู่ 2 แบบ ได้แก่
- Merry Christmas: สื่อถึง ความร่าเริง สนุกสนาน และความเบิกบานอย่างมีชีวิตชีวา เน้นถึงความรื่นเริงและบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองในเทศกาลคริสต์มาส เป็นวลีที่ใช้กันทั่วไปในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และอีกหลายประเทศทั่วโลก
- Happy Christmas: สื่อถึง ความสุข ความสงบ และความพึงพอใจในชีวิต โดยให้ความรู้สึกที่สงบ สง่างาม และเป็นทางการ มากกว่าคำว่า “Merry” เป็นวลีที่พบได้บ่อยในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์
สามารถเลือกใช้ได้ตามความชอบส่วนตัว หรือวัฒนธรรมที่ตนเองคุ้นเคย
Christmas & Xmas
ตัวอักษร “X” ในคำว่า “Xmas” มาจาก “Chi หรือ Χ” (พยัญชนะในภาษากรีก อ่านออกเสียงว่า “ไค”) ซึ่งเป็นอักษรตัวแรกของคำว่า “Χριστός (Christos)” ซึ่งหมายถึง “Christ”
คำย่อ “Xmas” นี้ถูกใช้ในบริบทของศาสนาคริสต์มานานหลายศตวรรษ ย้อนหลังไปถึงอย่างน้อยศตวรรษที่ 16 เป็นคำย่อที่มีที่มาทางประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้งและยาวนาน ดังนั้น Xmas ไม่ได้เป็นคำที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ หรือเป็นการไม่ให้เกียรติความสำคัญทางศาสนาแต่อย่างใด
Xmas or X’Mas
บางคนอาจสงสัยว่า คำย่อ ของคำว่า คริสต์มาส นี้ ควรเขียนให้ถูกต้องอย่างไรดี .. ??
เนื่องจาก ในคำว่า “Xmas” ตัวอักษร “X” นั้น ได้แทนที่คำว่า “Christ” อยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องหมาย “Apostrophe” คั่นกลางระหว่างคำว่า X กับ mas
The Story of Santa Claus: ตำนานของซานตาครอส
ในบรรดาบุคคลในตำนานที่เกี่ยวข้องกับวันคริสต์มาส ไม่มีใครโดดเด่นมากไปกว่า ซานตาครอส ผู้ที่มาจากการผสมผสานของประเพณีและเรื่องราวที่มีมายาวนานหลายศตวรรษ โดยต้นกำเนิดของซานตาครอส มีรากฐานมาจากเรื่องสำคัญต่างๆ ดังต่อไปนี้
นักบุญนิโคลัส (Saint Nicholas)
นักบุญนิโคลัส เป็นบิชอปหรือมุขนายกในศตวรรษที่ 4 แห่งเมืองไมรา (ประเทศตุรกี หรือ เตอร์เกีย ในปัจจุบัน) เกิดวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 270 ท่านมีชื่อเสียงในด้านความเมตตาและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยเฉพาะต่อเด็กและผู้ยากไร้ จึงได้รับการยกย่องให้เป็น นักบุญอุปถัมภ์ของเด็กๆ นักบุญนิโคลัส เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ปี ค.ศ. 343
[Photo Credits: St. Nicholas Catholic School]
ประเพณี ซินเตอร์กลาส (Sinterklaas)
ในขณะที่หลายประเทศในยุโรป นับเอาวันที่ “6 ธันวาคม” เป็นวันฉลองทางศาสนาเพื่อระลึถถึง “นักบุญนิโคลัส” แต่ในเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม “ซินเตอร์กลาส” เปรียบเสมือนตัวแทนของนักบุญนิโคลัสในแบบฉบับของชาวดัตช์ โดยการเฉลิมฉลองมักเกิดขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ “5 ธันวาคม” (ในภาษาดัตช์: Sinterklassavond; ในภาษาอังกฤษ: Sinterklaas Evening) ต่อเนื่องถึงวันที่ “6 ธันวาคม”
คืนวันที่ 5 ธันวาคม (Pakjesavond = Gifts Evening) จะเป็นวันที่เพื่อนๆ หรือคนในครอบครัวมารวมตัวกันเพื่อแลกเเปลี่ยนของขวัญหรือร่วมรับประทานอาหารกัน ก่อนเข้านอน เด็กๆ จะวางรองเท้าของตนไว้ข้างเตาผิงหรือหน้าประตู พร้อมกับใส่แครอทหรือหญ้าแห้งไว้ให้สำหรับม้าของซินเตอร์กลาส โดยมีความหวังว่าจะได้เห็นรองเท้าของพวกเขาเต็มไปด้วยของขวัญและขนมหวานในเช้าวันรุ่งขึ้น
ซินเตอร์กลาส (Sinterklaas) หรือ ซิ้นท์ นิโกลาส (Sint Nicolaas) บุคคลในตำนานนี้ เป็นชายชราที่แต่งกายด้วยเสื้อคลุมยาวสีแดง ทับบนผ้าคลุมบิชอบสีขาวแบบดั้งเดิม สวมหมวกทรงปีกกว้างสีแดงและแหวนทับทิม ถือไม้เท้าเลี้ยงแกะสีทองที่มีส่วนบนโค้งงอ มีม้าคู่ใจสีขาว (ซึ่งมีนามว่า อะเมริโก / Amerigo) เป็นพาหนะ ในมือถือหนังสือสีแดงเล่มใหญ่ที่บันทึกว่า เด็กแต่ละคนเป็นเด็กดีหรือซนบ้างในปีที่ผ่านมา
เทศกาลเฉลิมฉลองตามประเพณี จะเริ่มต้นทุกปีในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน (วันเสาร์แรกหลังวันที่ 11 พฤศจิกายน) ในช่วงสุดสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤศจิกายน เมื่อ Sinterklaas เดินทางด้วยเรือกลไฟจากสเปนมาถึงเนเธอร์แลนด์ Sinterklaas ขี่ม้าสีขาวของเขา ร่วมเดินในขบวนพาเหรดไปตามท้องถนน โดยมีบรรดาผู้ช่วยที่เรียกกันว่า ซวาเต ปิท (Zwarte Pieten หรือ Black Pete) เดินแจกขนมและคุ้กกี้ให้แก่ฝูงชนสองข้างทางไปด้วย
โดยปกติแล้ว เด็กๆ ชาวดัตช์จะได้รับของขวัญในช่วง Sinterklaas แทนที่จะเป็นคริสต์มาส ดังเช่นที่พบเห็นได้ทั่วไปในส่วนอื่นๆ ของโลก
สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นจะมีการแพร่ภาพพิธีเดินขบวนของซินเตอร์กลาส โดยการถ่ายทอดสดจะเริ่มต้นจากสถานที่ที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี เช่น ในปี 2024 นี้ ซินเตอร์กลาสจะเริ่มขบวนพาเหรดจากเมือง Vianen ในตอนกลางของเนเธอร์แลนด์ ประเพณีซินเตอร์กลาสต่างจากคริสต์มาสตรงที่ ไม่ได้มีการประกาศวันซินเตอร์กลาสให้เป็นวันหยุดแห่งชาติ แต่สถานศึกษาหรือสถานที่ทำงานบางแห่งจะปิดทำการเร็วขึ้น เพื่อให้ผู้ปกครองได้ใช้เวลาร่วมกับเด็กๆ และครอบครัว
เรื่องซินเตอร์กลาสนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องของนักบุญนิโคลัส เมื่อชาวดัตช์อพยพไปยังอเมริกาในศตวรรษที่ 17 ชื่อ ซินเตอร์กลาส ถูกเรียกเพี้ยนไปเป็น ซานตาคลอส นับแต่นั้นมา
หมายเหตุ: ในอดีต ผู้ช่วยของเขาหรือ Pieten จะเป็นคนผิวขาว แต่งหน้าให้ดำขลับ ทาปากสีแดง แต่ในปัจจุบัน เพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องของการเหยียดสีผิวหรือเหยียดเชื้อชาติ พวกเขาบางคนเพียงแค่แต่งหน้าให้ดูเหมือนเลอะเขม่าจากปล่องไฟเท่านั้นเอง
ประเพณีแลกของขวัญ Kris Kringle (หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า Secret Santa)
คริสต์ คริงเกิล (Kris Kringle) เป็นชื่อเรียกภาษาอังกฤษของคำว่า Father Christmas ซึ่งคำนี้มาจากคำเยอรมัน คือ “Christkindl” ซึ่งมีความหมายว่า “Christ child” เพราะคนเยอรมันมีความเชื่อว่า พระเยซูเป็นทูตสวรรค์ที่จุติลงมาเพื่อมอบของกำนัลให้แก่มวลมนุษย์ในเทศกาลคริสต์มาส
เทศกาลนี้ ยังคงนิยมปฏิบัติกันในหลายประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ซึ่งกติกาสากลของการละเล่นนี้ คือ ให้ทุกคนที่เข้าร่วมในเกมเขียนชื่อของตนลงในกระดาษ นำมาเขย่ารวมกัน แต่ละคนจะสุ่มหยิบชื่อของใครอีกคนหนึ่งขึ้นมา โดยแต่ละคนจะต้องหาซื้อของขวัญให้กับบุคคลที่ตนจับฉลากขึ้นมาได้ ภายในงบประมาณที่ร่วมกำหนดกันไว้ หลังจากแลกเปลี่ยนของขวัญกันในกลุ่มแล้ว จะมีการเฉลยว่า บุคคลลึกลับ (Secret Santa) ที่ให้ของขวัญแก่คุณนั้น .. คือใคร
ในประเทศไทย การละเล่นนี้ จะเห็นได้ตั้งแต่วัยเรียนจนถึงวัยทำงาน นอกจากจะมีการเตรียมของขวัญให้กับคนที่เราจับฉลากขึ้นมาได้แล้ว เรายังต้องแอบดูแลด้วยการซื้อขนมให้ เขียนโน้ตทักทาย หรือทำอะไรให้เค้าประหลาดใจ ซึ่งก็คือเกม Buddy-Budder นั่นเอง!
คุณพ่อคริสต์มาส (Father Christmas)
Father Christmas เป็นบุคคลในตำนานที่เกี่ยวข้องกับการเฉลิมฉลองคริสต์มาสในวัฒนธรรมยุโรป โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ เป็นตัวแทนแห่งความสุข ความรื่นเริง และจิตวิญญาณแห่งเทศกาลในช่วงคริสต์มาส
เขาเป็นชายชราที่แต่งกายด้วยเสื้อคลุม “สีเขียว” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของธรรมชาติและการกลับมาของฤดูใบไม้ผลิ เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลกลางฤดูหนาวเก่าแก่ของอังกฤษ ในยุคต่อๆ มา ถูกหลอมรวมกับภาพลักษณ์ของซานตาคลอสจนกลายเป็นบุคคลเดียวกันในหลายวัฒนธรรม
[Photo Credits: Devon Duvets]
ซานตาคลอส (Santa Claus)
ซานตาคลอส เป็นตัวละครสมมติที่อ้างอิงมาจากตำนานของ Sinterklaas
ในบทกวี “The Night before Christmas” ของ “Clement Clarke Moore” ซานตาคลอสที่เชื่อว่าเป็น St. Nicholas ถูกบรรยายไว้ว่า
“เขาลงมาทางปล่องไฟด้วยเครื่องแต่งกายที่ทำจากขนสัตว์ตั้งแต่หัวจรดเท้า ชายเสื้อเต็มไปด้วยขี้เถ้าและเขม่า มีถุงของเล่นพาดไว้ที่หลัง ดวงตาแวววาว ลักยิ้มที่ดูร่าเริง แก้มแดงเหมือนกุหลาบ จมูกแดงเหมือนลูกเชอรรี่ ปากเล็กๆ ของเขาเชิดขึ้นเหมือนคันธนู เคราที่คางของเขาสีขาวราวกับหิมะ เขามีใบหน้าที่กว้าง มีพุงเล็กน้อยที่สั่นกระเพื่อมเมื่อเขาหัวเราะ เขาอ้วนท้วน แลดูเหมือนเอลฟ์เฒ่าผู้ร่าเริง”
ต่อมา ในช่วงปี 1860 ศิลปินและนักวาดภาพการ์ตูนชื่อดังชาวอเมริกันที่ชื่อ โทมัส แนส (Thomas Nast) มีบทบาทสำคัญเช่นกันในการสร้างภาพลักษณ์ของซานตาคลอสที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน เขาต่อยอดตัวละครจากบทกวี “The Night before Christmas” ด้วยการวาดภาพซานตาคลอสที่แต่งกายด้วยชุด “สีแดง” เสริมขอบเสื้อด้วยขนสัตว์สีขาว แทนที่ฮู้ดที่ติดกับเสื้อคลุมด้วยหมวกสีแดง เพิ่มเข็มขัดและหัวเข็มขัดสีดำขนาดใหญ่ โดยยังคงมีหนวดเครายาว ดูอบอุ่น เป็นมิตร ใช้รถลากเลื่อนที่มีกวางเรนเดียร์ในการเดินทางมอบของขวัญให้แก่เด็กๆ เช่นเดียวกัน
การค้าและการตลาด
ในช่วงทศวรรษที่ 1930 เครื่องดื่มโคคา-โคล่า (Coca – Cola) ได้ตอกย้ำภาพลักษณ์ซานตาคลอสจาก Thomas Nast ด้วยแคมเปญโฆษณาที่มีตัวแสดงเป็นซานตาสวมชุด “สีแดง” เหมือน “สีของแบรนด์” จึงเป็นภาพจำว่า “ซานตาคลอส คือ ชายชราในชุดสีแดง” เป็นแคมเปญที่ถูกพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัยและนำมาเผยแพร่ในช่วงคริสตมาสของทุกปี
Santa Claus & His Reindeers: ซานตาครอสและกวางเรนเดียร์ของเขา
กวางเรนเดียร์ของซานตาคลอส ปรากฏตัวครั้งแรกในบทกวีที่ชื่อ “Account of A Visit from St. Nicholas” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “Twas the Night Before Christmas” เขียนโดย Clement Clarke Moore และถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ที่วางจำหน่ายสองครั้งต่อสัปดาห์อย่าง “Troy Sentinel” ในวันที่ 23 ธันวาคม 1823
แดชเชอร์ (Dasher)
มีชื่อเสียงในเรื่องความเร็ว คล่องแคล่ว เขาเป็นกวางที่วิ่งเร็วที่สุดในทีม มีความกระตือรือร้นเต็มเปี่ยมและพร้อมเป็นผู้นำของทีมเสมอ
แดนเซอร์ (Dancer)
ตามชื่อที่ได้มา แดนเซอร์ชื่นชอบการเคลื่อนไหวที่สง่างามและมีชีวิตชีวา เธอเป็นกวางที่ร่าเริง ช่วยเพิ่มงดงามและจังหวะให้กับขบวนลากเลื่อนของซานตาได้เป็นอย่างดี
แพรนเซอร์ (Prancer)
เป็นกวางที่มีลักษณะภูมิฐานและท่วงท่าสง่างามที่สุดในทีม เขาช่วยซานตาได้เยอะด้วยความสุขุมและการสร้างสมดุลที่ดีของการก้าวย่างให้กับทีม
วิกเซน (Vixen)
ฉลาดและมักแอบซุกซนเล็กน้อย เธอมีไหวพริบที่ดี สามารถช่วยให้การเดินทางผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ด้วยดี
คอเม็ท (Comet)
เป็นตัวแทนของความเร็วและความสดใส เขาเป็นที่รักของเด็กๆ และชอบนำความสุขมาสู่ทุกที่ที่ขบวนลากเลื่อนแล่นผ่าน ตำนานเล่าว่า เขาช่วยซานตาฝึกกวางหนุ่มสาวที่ขั้วโลกเหนือในช่วงนอกฤดูกาล
คิวปิด (Cupid)
เธอเป็นกวางที่อ่อนโยนที่สุดในบรรดากวางของซานตา คิวปิดชอบเผื่อแผ่ความรักและความสุขในทุกๆ ที่ที่ไป เธอมีหัวใจที่อบอุ่นและช่วยให้จิตวิญญาณแห่งเทศกาลคริสต์มาสยังคงอยู่
ดอนเนอร์ (Donner)
ชื่อของดอนเนอร์ในภาษาเยอรมัน หมายถึง ฟ้าร้องหรือคำราม (Thunder) เขามีบุคลิกที่ชัดเจนและเสียงทุ้มลึกทรงพลัง เข้มแข็งและไว้ใจได้ เป็นกำลังสำคัญของทีมในการนำทีมผ่านสภาพอากาศที่มีพายุ (ชื่อเดิม คือ Dunder)
บลิตเซน (Blitzen)
เป็นคู่หูของดอนเนอร์ ชื่อของบลิตเซนในภาษาเยอรมัน หมายถึง ฟ้าผ่า (Lightning) เขามีปฏิกิริยาที่รวดเร็วและทรงพลัง มีความสามารถในการนำทางผ่านสภาพอากาศที่ท้าท้าย จึงถูกอธิบายว่าเป็นกวางที่ฉลาดที่สุดใน (ชื่อเดิม คือ Blixem)
รูดอล์ฟ (Rudolph)
เป็นกวางตัวที่เก้า และเป็นน้องเล็กคนสุดท้องในทีม เกิดมาพร้อมกับจมูกสีแดงเรืองแสง ซึ่งทำให้เขาตกเป็นเป้าในการล้อเลียนและเยาะเย้ยจากกวางตัวอื่น
แต่ในคืนหนึ่งของวันคริสต์มาสอีฟที่หมอกลงหนาจนแทบมองไม่เห็นทาง ซานตาให้รูดอล์ฟใช้จมูกที่เปล่งแสงของเขา ช่วยนำทางลากเลื่อนให้แก่กวางตัวอื่นๆ จมูกที่เหมือนเป็นข้อด้อยของเขาในตอนแรก มีแสงอันทรงพลังมาก จนทำให้เส้นทางของทีม สว่างไสว และผ่านสภาพอากาศที่เลวร้ายในคืนนั้นไปได้ การใช้จมูกกอบกู้คริสต์มาสปีนั้นไว้ได้ ทำให้รูดอล์ฟเป็นกวางเรนเดียร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในตำนานกวางเรนเดียร์ของซานต้าไปโดยปริยาย
(หมายเหตุ: Robert Lewis May ผู้ที่มีชื่อเสียงในการสร้างตัวละครสมมติ ได้เพิ่มกวางตัวที่ 9 เข้าไปในหนังสือเรื่อง “Rudolph the Red-Nosed Reindeer” เมื่อปี ค.ศ. 1939)
นักเขียนท่านหนึ่ง นามว่า Ronald D.Lankford เคยอธิบายไว้ว่า เรื่องราวของรูดอล์ฟถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เด็กอเมริกัน เด็กบางคนอาจถูกมองว่าแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ จนพยายามปกปิดสิ่งที่คิดว่าเป็นปมด้อยของตัวเอง แต่จริงๆ แล้ว ความแตกต่างตรงนั้นอาจเป็นความสามารถพิเศษที่เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นก็ได้ จึงอยากให้เด็กๆ มองเรื่องของรูดอล์ฟเป็นตัวอย่าง พยายามต่อสู้ ไม่รู้สึกท้อแท้ เครียด หรือเสียใจกับสิ่งที่ตนเองถูกคนอื่นในสังคมล้อเลียนหรือเยาะเย้ย
กวางเรนเดียร์ต่างจากกวางทั่วไป คือ ทั้งเพศผู้และเพศเมียสามารถมีเขาได้ ปกติแล้วเพศผู้จะสลัดเขาหลังฤดูผสมพันธุ์ในช่วงปลายปี ส่วนเพศเมียจะเก็บเขาไว้จนถึงฤดูหนาวหรือฤดูใบไม้ผลิ เพื่อช่วยป้องกันอาหารในช่วงที่ตั้งท้อง จึงมีความเชื่อว่า กวางของซานตาที่มีเขาในคืนวันคริสตมาสอีฟน่าจะเป็นตัวเมียทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น กวางเรนเดียร์ของซานตายังพิเศษตรงที่สามารถบินได้บนน้ำและหลังคาโดยไม่จมหรือทำให้สิ่งใดเสียหาย อีกด้วย
FROM Dunder – Blixem / TO Donner – Blitzen
การเปลี่ยนชื่อกวางเรนเดียร์จาก “Dunder (หรือ Donder)” และ “Blixem” มาเป็น “Donner” หรือ “Blitzen” ในบทกวี “A Visit from St.Nicholas” เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางภาษาและวัฒนธรรมตามกาลเวลา
ในบทกวีต้นฉบับที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1823 ใช้คำในภาษาดัตช์ “Dunder” และ “Blixem” ซึ่งมีความหมายว่า “ฟ้าร้อง” และ “ฟ้าผ่า” เพื่อสะท้อนถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมดัตช์ในสหรัฐอเมริกายุคแรก โดยเฉพาะในนิวยอร์กที่เคยเป็นอาณานิคมของดัตช์และถูกเรียกว่า นิวอัมสเตอร์ดัม (New Amsterdam)
ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ภาษาเยอรมันเริ่มได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา เมื่อบทกวีนี้ได้รับความนิยมและถูกดัดแปลงให้เข้ากับวัฒนธรรมอเมริกัน ชื่อดังกล่าวก็ถูกเปลี่ยนเป็นคำในภาษาเยอรมัน คือ “Donder” และ “Blitzen” ซึ่งมีความหมายเดียวกันแทน และคำเหล่านี้อาจฟังดูไพเราะและเหมาะสมกับจังหวะของบทกวีมากกว่า ต่อมา ในศตวรรษที่ 20 คำว่า “Donner” ถูกนำมาใช้แทน “Donder” คู่หูสองตัวนี้จึงถูกเรียกว่า “Donner” และ “Blitzen” นับแต่นั้นเป็นต้นมา
บทกวี Twas the Night Before Christmas
คำว่า “Twas” เป็นคำย่อของ “It was” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมักใช้ในภาษาอังกฤษแบบเก่าหรือบทกวี เพื่อให้เหมาะกับจังหวะและสไตล์การเขียน
ดังนั้น ในประโยคเปิดของบทกวีนี้ที่ว่า “Twas the Night Before Christmas, when all thro the house, Not a creature was stirring, not even a mouse; …” จึงมีความหมายว่า “It was the night before Christmas, when all through the house, Not a creature was stirring, not even a mouse; …” หรือในภาษาไทยที่ว่า “ในคืนก่อนวันคริสต์มาส ทั่วทั้งบ้านไม่มีสัตว์ตัวใดเคลื่อนไหว ไม่มีแม้กระทั่งหนูสักตัว …” ซึ่งเป็นเรื่องปกติในบทกวีหรือการเล่าเรื่อง เพื่อให้จังหวะของคำกลอนราบรื่นและไพเราะยิ่งขึ้น
The Evolution of Christmas Traditions: วิวัฒนาการของประเพณีคริสต์มาส
พิธีเสกถ้ำพระกุมาร (Blessing the Christmas Crib)
ธรรมเนียมการเสกถ้ำพระกุมาร เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน เพื่อเตรียมจิตวิญญาณให้พร้อมสำหรับการเฉลิมฉลองคริสต์มาส มีต้นกำเนิดมาจาก นักบุญ ฟรานซิส แห่งอัสซีซี (St. Francis of Assisi) ผู้ที่ต้องการทำให้ฉากพระกุมารบังเกิดมีชีวิตชีวา เพื่อเตือนใจถึงความถ่อมตน สันติ และความรักที่พระเยซูประทานแก่โลก
พิธีนี้มักจัดขึ้นในช่วงเทศกาลเตรียมรับเสด็จ (Advent) หรือในคืนวันคริสต์มาสอีฟ อาจจัดในโบสถ์ สถานที่สาธารณะ หรือที่พักอาศัย โดยมีการสวดมนต์ อ่านพระคัมภีร์ และประพรมน้ำมนต์เพื่อขอพรจากพระเจ้าให้แก่ทุกคนในพิธี
การแลกเปลี่ยนของขวัญ (Gift-Giving)
การแลกเปลี่ยนของขวัญ ไม่ได้เริ่มต้นเฉพาะในเทศกาลคริสต์มาส แต่มีรากฐานจากพิธีกรรมและวัฒนธรรมในยุคก่อนคริสต์ศาสนา เช่น เทศกาล Saturnalia ของจักรวรรดิโรมันที่เฉลิมฉลองให้แก่เทพเจ้า Saturn (เทพแห่งการเกษตร) หรือ เทศกาล Yule ของชาวนอกรีตในวันเหมายัน (Winter Solstice)
เมื่อคริสต์ศาสนาเริ่มแพร่หลาย ประเพณีการแลกเปลี่ยนของขวัญ ได้รับอิทธิพลจากเรื่องราวในพระคัมภีร์ ทั้งที่เกี่ยวกับพระเยซู และนักบุญนิโคลัส ต่อมาในศตวรรษที่ 12-16 การแลกเปลี่ยนของขวัญเริ่มขยายในหมู่ชนชั้นสูง โดยเฉพาะในราชวงศ์ที่มอบของขวัญล้ำค่าเพื่อแสดงสถานะและการผูกไมตรี และในชนชั้นทั่วไปที่มอบของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ให้กันเพื่อแสดงความปรารถนาดี ตำนานของซานตาคลอสในอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 19 ทำให้การมอบของขวัญแด่เด็กๆ กลายเป็นส่วนสำคัญของเทศกาลคริสต์มาส
ประเพณีการแลกเปลี่ยนของขวัญมีรากฐานมาจากประเพณีโบราณและความเชื่อทางศาสนา ซึ่งสะท้อนถึงความเมตตา ความรัก และความสามัคคี แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบและบริบทตามยุคสมัย แต่สาระสำคัญของการให้ยังคงเหมือนเดิม คือ การแบ่งปันความสุขและส่งความปรารถนาดีให้แก่กัน
พิธีเปิดไฟต้นคริสต์มาส (Christmas Tree Lighting Ceremony)
ต้นคริสต์มาศ เริ่มมีขึ้นในประเทศเยอรมัน ในช่วงศตวรรษที่ 16 โดยได้รับอิทธิพลมาจากประเพณีโบราณของชาวนอกรีตในยุโรป โดยเริ่มมีการใช้ต้นไม้สีเขียว (Evergreen Trees) เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองในช่วงฤดูหนาว ก่อนจะแพร่หลายไปอังกฤษและทั่วโลกผ่านทางราชวงศ์และผู้อพยพ จนกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเทศกาลคริสต์มาสในปัจจุบัน
การเปิดไฟต้นคริสต์มาส เป็นการแสดงสัญลักษณ์ของแสงสว่างที่พระคริสต์นำมาสู่โลก
บทเพลงประจำเทศกาลคริสต์มาส (Christmas Iconic Songs)
- Silent Night (Stille Nacht, in German)
- Jingle Bells
- O Holy Night (Cantique de Noël)
- All I Want For Christmas Is You
- Carol of the Bells
Silent Night (Stille Nacht, in German)
หรือชื่อเต็มว่า “Silent Night, Holy Night (Stille Nacht, Heilige Nacht) เพลงนี้ถูกแต่งขึ้นเป็นภาษาเยอรมันในปี ค.ศ. 1816 โดยบาทหลวงชาวออสเตรียที่ชื่อ โยเซฟ มอร์ (Joseph Mohr) และคีตกวี ฟรานซ์ ซาเวียร์ กรูเบอร์ (Franz Xaver Gruber) เป็นผู้แต่งทำนองในปี ค.ศ. 1818 ได้รับประกาศให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (An Intangible Cultural Heritage) โดย UNESCO ในปี ค.ศ. 2011
Christmas Eve ในปี ค.ศ. 1818 ที่โบสถ์ St. Nicholas ในเมือง Oberndorf ประเทศออสเตรีย คีย์บอร์ดของโบสถ์เสียหายจากอุทกภัย จนไม่สามารถเล่นเพลงในคืนวันคริสต์มาสอีฟนั้นได้ พวกเขาจึงต้องการเพลงง่ายๆ ที่สามารถขับร้องและบรรเลงด้วยกีตาร์ได้ บาทหลวงโยเซฟจึงนำบทกวี Stille Nacht ที่ตนได้แต่งไว้ มาให้ฟรานซ์ช่วยแต่งทำนองสำหรับกีตาร์ให้ และเพลงของพวกเขาถูกขับร้องและบรรเลงเป็นครั้งแรกในพิธีมิสซาคืนนั้น เมื่อเพลงนี้ถูกขับร้องออกไป มันกลายเป็นบทเพลงที่สร้างความสงบสุขและซาบซึ้งแก่ผู้คนจนกลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วและถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ แพร่หลายไปทั่วโลก
ต่อมา ระหว่างปี ค.ศ. 1890-1899 โบสถ์ St. Nicholas ถูกน้ำท่วมครั้งแล้วครั้งเล่าจากแม่น้ำ Salzach เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมที่สูงและความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องอีก โบสถ์ประจำตำบลเก่าจึงไม่ได้รับการซ่อมแซมและถูกรื้อถอนในปี ค.ศ. 1906 ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยโบสถ์ใหม่ใจกลางเมืองในปี ค.ศ. 1924 และแล้วเสร็จในปี ค.ศ.1937
โบสถ์ใหม่ถูกขนามนามว่า “Silent Night Chapel (Stille Nacht Kapelle)” ตามชื่อของเพลงคริสต์มาสที่ถูกขับร้องในโบสถ์เก่า และมีการสร้างโบสถ์แห่งความทรงจำและพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึง ในทุกๆ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันคริสต์มาส ผู้คนหลายพันคนจากทั่วโลกจะไปเยี่ยมชม ร่วมฟังเพลง Silent Night (Stille Nacht) ที่ถูกแต่งเป็นหลายภาษา และร่วมพิธีมิสซาอันศักดิ์สิทธิ์
ในปี ค.ศ.1914 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เพลง Silent Night ถูกขับร้องโดยทหารฝ่ายตรงข้าม (คือ อังกฤษ และ เยอรมัน) ที่หยุดยิงชั่วคราวในวันคริสต์มาส และร่วมร้องเพลงนี้ด้วยกัน ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่แสดงถึงความเป็นมนุษย์ในประวัติศาสตร์
[Credits: Kelly Clarkson]
Jingle Bells
เนื้อร้องและทำนองของเพลงนี้ถูกแต่งขึ้นในปี ค.ศ. 1850 โดย เจมส์ ลอร์ด เพียร์พอนต์ (James Lord Pierpont) แต่เพลงนี้ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นสำหรับคริสต์มาสโดยตรง ในตอนแรกถูกเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1857 ด้วยชื่อว่า “The One Horse Open Sleigh” และถูกตั้งชื่อใหม่เป็น Jingle Bells ในปี 1859 โดย Oliver Ditson
เดิมทีเพลงนี้ถูกแต่งขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล วันขอบคุณพระเจ้า ในสหรัฐอเมริกา แต่ทำนองที่สนุกสนานและเนื้อเพลงที่พูดถึงการนั่งเลื่อนบนหิมะ ทำให้กลายเป็นเพลงประจำเทศกาลฤดูหนาว รวมถึงคริสต์มาสในที่สุด
Jingle Bells เป็นหนึ่งในเพลงแรกๆ ที่ออกอากาศจากสถานีอวกาศเมื่อเดือนธันวาคมปี ค.ศ. 1965 จากการเล่นพิเรนทร์ของนักบินอวกาศเพียงสองคนของยาน Gemini 6A ของ NASA ที่ชื่อ Thomas P. Stafford และ Wally Schirra ที่เล่นเพลงนี้ผ่านฮาร์โมนิก้าและกระดิ่งเล็กๆ และส่งข้อความหยอกล้อถึงศูนย์บัญชาการภารกิจเพื่อสร้างความผ่อนคลายให้แก่เพื่อนๆ นักบินด้วยกัน
[Credits: Christmas Songs and Carols]
O Holy Night (Cantique de Noël)
เพลงนี้มีจุดเริ่มต้นจากบทกวีฝรั่งเศสที่ชื่อว่า “Minuit, chrétiens” ที่เขียนไว้เมื่อปี 1843 เพลงนี้แต่งโดยกวีชาวฝรั่งเศส Placide Cappeau เมื่อปี 1847 และมีนักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศส Adolphe Adam เป็นผู้เขียนทำนอง
ความพิเศษของเพลงนี้อยู่ที่ เป็นเพลงคริสต์มาสเพลงแรกที่ถูกเล่นผ่านวิทยุกระจายเสียง ในคืนวันคริสต์มาสอีฟ (วันที่ 24 ธันวาคม ปี 1906) โดยวิศวกรไฟฟ้าชาวอเมริกันที่ชื่อ Reginald Fessenden ซึ่งเขาเล่นเพลงนี้ด้วยไวโอลินและอ่านพระคัมภีร์ผ่านคลื่นวิทยุ ส่งให้แก่ลูกเรือที่อยู่บนเรือเดินสมุทรของบริษัท United Fruit Company ที่อยู่ระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลแคริบเบียน ถือเป็นการ “ออกอากาศทางวิทยุ” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก
[Credits: Mariah Carey]
แม้จะเป็นเพลงที่ไพเราะและมีเนื้อหาลึกซึ้ง แต่ก็เคยถูกคัดค้านโดยคริสตจักรคาทอลิกในฝรั่งเศส เนื่องจากผู้แต่งบทกวีมีแนวคิดที่ต่อต้านศาสนา แต่ในที่สุดเพลงก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง
All I Want For Christmas Is You
เป็นเพลงที่แต่งและขับร้องโดย Mariah Carey ในปี 1994 เพลงนี้กลายเป็นเพลงคริสต์มาสร่วมสมัยที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เธอใช้เวลาเพียงแค่ 15 นาทีในการแต่งคำร้องและทำนอง และกลายเป็นเพลงฮิตที่ทำลายสถิติหลายรายการ รวมถึงติดอันดับ 1 บนชาร์ต Billboard หลายครั้งในช่วงคริสต์มาส
[Credits: Mariah Carey]
แม้จะถูกปล่อยออกมานานหลายทศวรรษแล้ว ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่เพลงคริสต์มาสที่ยังคงสร้างรายได้มหาศาลในทุกปี
Carol of the Bells
เพลงนี้มีรากฐานมาจากดนตรีพื้นบ้านของยูเครนที่ชื่อว่า “Shchedryk” แต่งโดยคีตกวีชาวยูเครน Mykola Leontovych ในปี 1914 เพลงนี้เดิมทีไม่ได้เกี่ยวข้องกับคริสต์มาสเลย แต่เป็นเพลงพื้นบ้านที่ร้องในช่วงปีใหม่ของชาวยูเครน ทำนองอันทรงพลังนี้ถูกนำไปแปลงเป็นภาษาอังกฤษในปี 1936 โดย Peter J. Wilhousky และกลายเป็นเพลงประจำเทศกาลคริสต์มาสในที่สุด
[Credits: Libera Official]
ด้วยทำนองที่รวดเร็วและก้องกังวาน ทำให้ Carol of the Bells ถูกนำไปใช้ประกอบละครและภาพยนตร์คริสต์มาสหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือภาพยนตร์เรื่อง Home Alone ภาคแรก ซึ่งนำแสดงโดยหนูน้อย Macauley Culkin ในปี 1990
เพลงเหล่านี้ไม่เพียงสร้างสีสันให้กับเทศกาลคริสต์มาส แต่ยังมีเรื่องราวเบื้องหลังที่ทำให้เราเห็นถึงการเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และจิตวิญญาณของมนุษย์ทั่วโลก ที่ถึงแม้จะต่างศาสนาและความเชื่อ แต่ก็สามารถร่วมแบ่งปันความสุขผ่านเสียงเพลงและเสียงดนตรีได้อย่างไพเราะและงดงาม
Conclusion: บทสรุป
เรื่องราวของเทศกาลคริสต์มาส ที่ผสมผสานทั้งความสำคัญทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และการเฉลิมฉลองแบบสมัยใหม่ แสดงให้เห็นว่า มีบางสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา นั่นคือ ความเมตตา ความมีน้ำใจ และความอบอุ่นของมิตรภาพระหว่างผู้คน
ระหว่างที่เรากำลังเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสในแต่ละปี อย่าลืมว่าเรากำลังเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีอันงดงามที่สืบทอดกันมาหลายศตวรรษ และขอให้เราระลึกถึงความหมายที่แท้จริงของเทศกาล ซึ่งไม่ได้อยู่เพียงแค่แสงไฟระยิบระยับ อาหารเลิศรส หรือของขวัญที่ห่อไว้อย่างสวยงาม แต่คริสต์มาสคือช่วงเวลาที่เราควรสะท้อนถึงความรัก ความหวัง และความยินดีที่เกิดจากการให้และการแบ่งปันแก่ผู้อื่น
ขอให้คริสต์มาสนี้ นำความสุข สงบ มาสู่หัวใจของคุณ นำความปีติมาสู่ทุกคนในครอบครัว สุขสันต์วันคริสต์มาส และขอให้คำอวยพรใดๆ ที่มีในเทศกาลนี้ อยู่กับคุณและคนที่คุณรักเสมอ
“ Merry Christmas & Happy New Year ”
“Happy Christmas to all, and to all a good night.”
A Visit from St. Nicholas
[Credits: Christmas Songs and Carols]
[Photo Credits: ICONSIAM]